3.2การเขียนแบบ
- tai0865073687
- 10 ส.ค. 2558
- ยาว 1 นาที
คือ การถ่ายทอดความคิดสร้างสรรค์โดยการเขียนเป็นภาพหรือสัญลักษณ์ ตลอดจนรายละเอียดต่างๆลงในแผ่นกระดาษ เพื่อเป็นสื่อความหมายแสดงรูปหรือชิ้นงานให้ผู้อ่านและผู้ดูแบบนั้นเข้าใจ การเขียนแบบนี้ถือเป็นภาษาอย่างหนึ่งในการบ่งบอกให้เห็นได้ด้วยสายตา การเขียนแบบผลิตภัณฑ์โดยปกติมักจะแสดงการเขียนออกมาในรูปทัศนียภาพ อาจจะใช้สีเดียวหรือหลายสีก็ได้ สีที่ใช้เป็นส่วนหนึ่งในการดึงดูดความสนใจของแบบนั้นๆ สัดส่วนที่ใช้เขียนแบบผลิตภัณฑ์นั้นขึ้นอยู่กับขนาดของผลิตภัณฑ์ อาจจะใช้ย่อสัดส่วนหรือขยายสัดส่วนก็ได้
การเขียนแบบมีด้วยกันหลายอย่าง แต่ถ้าจะแบ่งอกตามลักษณะของงานแล้วสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. การเขียนแบบทางสถาปัตยกรรม ได้แก่
การเขียนแบบทางการก่อสร้างอาคารสถานที่ต่างๆ เช่น การเขียนแบบโครงสร้าง การเขียนแบบแผนที่ การเขียนแบบช่างสำรวจ เป็นต้น
2. การเขียนแบบทางวิศวกรรม ได้แก่
การเขียนแบบเครื่องจักรกลต่างๆ เช่น การเขียนแบบเครื่องกล การเขียนแบบโลหะแผ่น การเขียนแบบไฟฟ้า การเขียนแบบช่างกลโรงงาน การเขียนแบบเครื่องเรือน เป็นต้น
ชนิดของแบบ แบบทั้งสองประเภทนั้นจะเขียนเป็นภาพหรือใช้เป็นสัญลักษณ์ก็ได้ สามารถเขียนได้ 3 วิธีคือ
1. การเขียนแบบภาพ (Pictorial Drawing)
ได้แก่ การเขียนแบบที่เป็นรูป 3 มิติ มองดูเหมือนของจริงแบบถ่ายภาพ ใช้สำหรับเขียนประกอบเพื่อให้ดูเข้าใจง่าย ผู้ที่ไม่มีความรู้ในการเขียนแบบก็สามารถดูและเข้าใจ แต่ไม่เหมาะที่จะใช้สำหรับสร้างชิ้นงานที่มีความสลับซับซ้อน การเขียนภาพมี 3 แบบด้วยกันคือ
1.1 แบบ Oblique เป็นแบบภาพ 3 มิติที่มองเห็นรูปร่างลักษณะเหมือนของจริง ด้านหน้าเป็นแนวตรงเป็นมุมฉากเหมือนภาพฉาย สามารถจัดขนาดได้ ส่วนด้านลึกจะทำมุมต่างกันกับเส้นระดับ มุมที่ใช้มักจะใช้มุม 45 องศา
1.2 แบบ Isometric เป็นแบบภาพ 3 มิติมองเห็นรูปร่างลักษณะเหมือนของจริงแนวแกนกลางจะตั้งตรง ส่วนด้านหน้าและด้านข้างจะทำมุม 30 องศากับเส้นระดับ
1.3 แบบ Perspective เป็นแบบรูป 3 มิติเหมือนรูปถ่าย ใช้เขียนประกอบเพื่อแสดงแบบเหมือนของจริง แบบ Perspective มีด้วยกัน 3 ชนิดคือ
- แบบจุดรวมสายตา 1 จุด
- แบบจุดรวมสายตา 2 จุด
- แบบจุดรวมสายตา 3 จุด
2. แบบใช้งาน (Working Drawing)
เป็นแบบที่ใช้เขียนในงานผลิตทุกชนิดเพราะแบบใช้งานที่ได้แสดงรายละเอียดของด้านต่างๆไว้อย่างชัดเจนและถูกต้อง แบบใช้งาน ได้แก่
2.1 แบบฉาย เป็นแบบภาพ 2 มิติ ตามแนวตรงเป็นมุมฉากแสดงรายละเอียดของด้านต่างๆเช่น ด้านหน้า ด้านบน ด้านข้าง ด้านหลัง เป็นต้น การแสดงรายละเอียดนั้นต้องมีอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 2 ด้าน การแสดงแบบภาพฉายมีดังนี้
- ภาพแสดงด้านต่างแบบเต็มขนาดคือ ขนาดเท่าของจริงหรือจะใช้
- มาตราส่วนย่อหรือขยายก็ได้แต่ต้องบอกไว้อย่างชัดเจน
- มีตัวเลขหรือตัวอักษรประกอบเพื่อให้ทราบรายละเอียดต่างๆ
- มีรายการวัสดุที่ใช้โดยละเอียด
แบบภาพฉายนี้ถ้าเป็นงานที่มีรายละเอียดหรือสลับซับซ้อนมากอาจจะเขียนภาพตัดหรือแบบขยายภาพละเอียดประกอบเพิ่มเติมก็ได้
มาตราส่วนที่ใช้ในการเขียนแบบ มาตราส่วนที่ใช้ในการเขียนแบบโดยทั่วไปมี 3 ชนิดด้วยกัน คือ
1. มาตราส่วนเท่าของจริง 1 : 1
2. มาตราส่วนย่อย 1 : 2, 1 : 5, 1 : 10, 1 : 20, 1 : 100, 1 : 200, 1 : 500, 1 : 1000
3. มาตราส่วนขยาย 2 : 1, 5 : 1, 10 : 1

Comments